การเรียนการสอน
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย คือ ช่วงอายุ แรกเกิด – 6 ปี เพราะการพัฒนาสมองของเด็กในวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ ครูควรจะจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย เด็กในวัยนี้จะมีการเรียนรู้ผ่านการเล่น ครูจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก โดยผ่านการเล่น เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการที่เหมาะสม เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพทางสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมอง และการทำงานให้ประสานสัมพันธ์กันของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา ดังนี้ สมองซีกซ้ายจะควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์
สมองซีกขวาจะควบคุมด้านศิลปะ จินตนาการ ดนตรี ระยะ มิติ ความคิดสร้างสรรค์
ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้ใช้ความคิด โดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมอง ทั้งสองซีกเข้าด้วยกันเพื่อให้มองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ดี เป็นผลงานที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลในผลงานชิ้นเดียวกัน
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
1.การเคลื่อนไหวของร่างกาย การเดิน การยืน การวิ่ง การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่าง ๆ การเคลื่อนไหวอยู่กับที่และการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่
2.การรู้จักหาเหตุผล ฝึกการสังเกต เปรียบเทียบ การจัดหมวดหมู่ของในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ขนาด ปริมาณ ตัวเลขต่าง ๆ
3.มิติสัมพันธ์ การที่เด็กได้สัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นของจริง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง การเข้าใจความสัมพันธ์ของระยะ ตำแหน่งและการมองเห็น การสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เด็กจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
4.ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟังการอ่านและการเขียน การพูด การฟังนิทาน เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น
5.ดนตรีและจังหวะ ให้เด็กได้รู้จักฟังดนตรีแยกแยะเสียงต่าง ๆ ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี เป็นการฝึกให้เด็กได้รู้จักจังหวะดนตรี
6.การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปันเข้าใจผู้อื่น เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา
บทบาทของผู้ปกครองที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
1.เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
2. ให้เด็กได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่คิดและได้ลงมือกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
3.ผู้ปกครองต้องรับฟังในสิ่งที่เด็กพูดด้วยความตั้งใจและพยายามเข้าใจเด็ก
4.ให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติเพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กได้กว้างมากขึ้น
การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยนั้น องค์ประกอบที่สำคัญ คือ อาหาร พันธุกรรม
สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ ให้เด็กได้มีโอกาสใช้ความคิดหลากหลายแบบ เช่น คิดแสวงหาความรู้ คิดวิเคราะห์ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผู้ปกครองและครูควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆเพิ่มเติม เพื่อการพัฒนาสมองอย่างมีประสิทธิภาพ
-เทคนิคการเรียกเด็กเข้ากลุ่ม โดยการร้องเพลง
กลุ่มไหน กลุ่มไหน รีบเร็วไว หากลุ่มพลัน
อย่ามัว.....ชักช้า เวลาจะไม่ทันระวังจะเดินชนกัน เข้ากลุ่มพลันว่องไว(ซ้ำ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น